ลำดับเหตุการณ์ ของ การล้อมอยุธยา (พ.ศ. 2309–2310)

การเตรียมการต่อสู้ของอยุธยา

แผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งของกองกำลังฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2309

การวางแนวปะทะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กองทัพพม่าซึ่งล้อมกรุงมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 เดือนนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2309 ไม่สามารถแม้แต่จะบุกเข้าใกล้ตัวกำแพงพระนคร หรือตั้งป้อมประชิดกำแพงเพื่อใช้ปืนใหญ่ระดมยิง เหมือนกับที่เคยเคยทำได้ในศึกอลองพญา พม่าทำได้อย่างมากก็แต่เพียงตั้งค่ายล้อมพระนครอยู่ไกล ๆ เช่น ทางทิศตะวันตกเข้ามาได้ไม่เกินวัดท่าการ้อง[6] ขณะที่กำลังส่วนใหญ่ยังคงติดอยู่กลางทุ่งประเชต และทุ่งวัดภูเขาทอง ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เข้ามาได้ไม่ถึงวัดไชยวัฒนาราม เพราะทางอยุธยาตั้งค่ายใหญ่กันไว้ ทางด้านตะวันออกเข้าได้ ไม่ถึงวัดพิชัย และเป็นไปได้ว่าตลอดลำคูขื่อหน้าจากหัวรอถึงปากน้ำแม่เบี้ย และคลองสวนพลูยังเป็นเขตปลอดจากการยึดครองของพม่า ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศใต้จากคลองสวนพลู วัดโปรตุเกส ตลอดไปจนถึงวัดพุทไธศวรรย์ และวัดเซนต์โยเซฟยังตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอยุธยา ส่วนทางทิศเหนือพม่าเข้าได้ไม่ไกลไปกว่าโพธิ์สามต้นและปากน้ำประสบ[7][8]

การรบทางเรือ

บาทหลวงชาวฝรั่งเศสสรุปความสามารถของทหารอยุธยาที่ป้องกันพระนครว่า

"… เมื่อไทยออกต่อสู้พม่าคราวใด ก็สำหรับส่งอาวุธให้ข้าศึกเท่านั้น …"[9]

พวกแม่ทัพนายกองของพม่าร้องทุกข์ต่อมังมหานรธาให้เลิกทัพกลับไปก่อน เพราะฝนตกชุกเดี๋ยวน้ำเหนือก็จะหลากมา แต่มังมหานรธาไม่เห็นด้วย และว่ากรุงศรีอยุธยาขัดสนเสบียงอาหาร และกระสุนดินดำจนอ่อนกำลังจวนจะตีได้อยู่แล้ว ฝ่ายกองทัพพม่าก็ได้ตระเตรียมทำไร่ทำนาหาอัตคัตสิ่งใดไม่ ถ้าเลิกทัพกลับไป อยุธยาจะได้ช่องทางหากำลังมาเพิ่มเติม เตรียมรักษาบ้านเมืองกวดขันกว่าแต่ก่อน ถึงยกมาตีอีกที่ไหนจะตีง่ายเหมือนครั้งนี้ มังมหานรธาจึงไม่ยอมให้ทัพกลับ ให้เที่ยวตรวจหาที่ดอนตามโคกตามวัดอันมีอยู่รอบพระนคร แล้วแบ่งหน้าที่กันให้กองทัพแยกออกไปตั้งค่ายสำหรับที่จะอยู่เมื่อถึงฤดูน้ำ และให้ผ่อนช้างม้าพาหนะไปเลี้ยงตามที่ดอนในหัวเมืองใกล้เคียง แล้วให้เที่ยวรวบรวมเรือใหญ่น้อยมาไว้ใช้ในกองทัพ เป็นจำนวนมาก[10]

หลังจากที่หมดฤดูน้ำหลาก มังมหานรธาก็ล้มป่วยลงและถึงแก่กรรมที่ค่ายบ้านสีกุก แต่สาเหตุที่มังมหานรธาถึงแก่กรรมกลับโทษฝ่ายอยุธยา ด้วยแต่ก่อนมากองทัพพม่าฝ่ายเหนือ กับกองทัพพม่าฝ่ายใต้มักแก่งแย่งกัน ด้วยต่างฝ่ายต่างก็เป็นอิสระมิได้ขึ้นแก่กัน ครั้นมังมหานรธาถึงแก่กรรมลง[11]

หลังจากที่มังมหานรธาถึงแก่กรรมแล้ว เนเมียวสีหบดีก็ได้เป็นแม่ทัพใหญ่ขึ้นบังคับบัญชากองทัพทั้งหมดเพียงผู้เดียว ส่งผลให้กองทัพทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้สมทบกันเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา ตัวเนเมียวสีหบดีได้ย้ายจากค่ายปากน้ำประสบมาอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น[12]

การตั้งค่ายของอยุธยา

ต่อมาฝ่ายไทยได้มีคำสั่งให้ข้ามออกไปตั้งค่ายป้องกันพระนครไว้ทุกด้าน ดังนี้

ทิศเหนือ ตั้งค่ายที่วัดพระเมรุแห่งหนึ่ง ตั้งที่เพนียดแห่งหนึ่งทิศใต้ ตั้งค่ายที่บ้านสวนพลูแห่งหนึ่ง ให้หลวงอภัยพิพัฒน์ ขุนนางจีนคุมชาวจีนบ้านนายค่าย (บางฉบับเรียกนายก่าย) 2,000 คน ให้พวกคริสตังตั้งค่ายที่วัดพุทไธสวรรย์แห่งหนึ่งทิศตะวันออก ตั้งค่ายที่วัดเกาะแก้วแห่งหนึ่ง ตั้งที่วัดมณฑปแห่งหนึ่ง ตั้งที่วัดพิชัยแห่งหนึ่งในบังคับของพระยาวชิรปราการ (สิน)ทิศตะวันตก ให้กรมอาสาหกเหล่า ตั้งค่ายที่วัดไชยวัฒนารามแห่งหนึ่ง

กองทัพอยุธยาที่รักษาพระนครนั้นเริ่มระส่ำระสายด้วยรู้กันว่าหมดช่องทางที่จะเอาชนะพม่าได้ พวกจีนในกองทัพที่ไปตั้งค่ายอยู่ที่บ้านสวนพลู คิดจะเอาตัวรอดก่อนคบคิดกันประมาณ 300 คน พากันไปยังพระพุทธบาทไปลอกทองคำที่หุ้มพระมณฑปน้อย และแผ่นเงินที่ดาดพื้นพระมณฑปใหญ่มาแบ่งปันกันเป็น อาณาประโยชน์ แล้วเอาไฟเผาพระมณฑปพระพุทธบาท[13]ต่อมาค่ายจีนที่บ้านสวนพลูก็เสียแก่พม่า

ต่อมาพม่ายกเข้าตีค่ายที่เพนียดได้ เนเมียวสีหบดีแม่ทัพพม่าก็เข้ามาตั้งอยู่ที่เพนียด แล้วให้กองทัพพม่าเข้าตีค่าย ทหารอยุธยาที่ออกไปตั้งค่ายป้องกันพระนครข้างด้านเหนือ ถูกตีแตกกลับเข้ามาในกรุงหมดทุกค่าย พม่าเข้ามาตั้งค่ายประชิดพระนคร ด้านเหนือ ที่วัดกุฎีดาว วัดสามพิหาร วัดศรีโพธิ์ วัดนางชี วัดแม่นางปลื้ม วัดมณฑป แล้วให้ปลูกหอรบ เอาปืนขึ้นจังก้ายิงเข้าไปในพระนครทุกวันมิได้ขาด[14]

ส่วนแม่ทัพข้างใต้ก็ยกเข้ามาตีไทยที่วัดพุทไธสวรรย์ แล้วไปตีค่ายที่วัดชัยวัฒนาราม รบกันอยู่ได้ 8-9 วันก็เสียค่ายแก่พม่า[15] แต่ที่ค่ายของพระยาตากสินที่วัดพิชัยนั้น พระยาตากทิ้งค่ายไปเสียก่อนที่พม่าจะยกเข้ามาตี

การขุดอุโมงค์ (อยุธยา หัวรอ พ.ศ. 2309)

หลังจากนายทัพพม่ารู้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กองทัพของทางกรุงศรีอยุธยาอ่อนกำลังลงมาก และประชาชนในเมืองก็อยู่ในสภาพอดยาก จึงตกลงใจเริ่มขุดอุโมงค์ลอดตัวกำแพงอยุธยาทางด้านหัวรอ ซึ่งเป็นจุดที่แคบที่สุดของคูเมือง อุโมงค์ที่ขุดมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 5 อุโมงค์ ในจำนวนนั้น 2 อุโมงค์เป็นอุโมงค์ที่ขุดมาหยุดลงตรงใต้ฐานกำแพง จากนั้นก็ขยายแนวขุดไปตามแนวกำแพงทั้งสองด้านเป็นขนาดความยาวประมาณ 350 หลา ด้านใต้อุโมงค์ใช้ไม้ทำขื่อรับฐานกำแพงไว้อีกชั้นหนึ่ง[16]

ส่วนอุโมงค์ที่เหลืออีก 3 อุโมงค์นั้นขุดลอดฐานกำแพงเข้าไปในตัวพระนคร แต่ยังคงเหลือชั้นดินปิดไว้ประมาณ 2 ฟุต การปฏิบัติการขุดอุโมงค์ดังกล่าวมิได้เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะปกติทางฝ่ายอยุธยาบนเชิงเทินใช้ปืนยิงกลุ่มพม่า ที่เข้ามาใกล้แนวกำแพงอยู่ตลอดเวลา เป็นเหตุให้พม่าต้องดำเนินการเป็นขั้นตอนคือ การสร้างสะพานในชั้นต้นทำสะพานข้ามคูก่อน จากนั้นจึงสร้างค่ายใหม่ขึ้นอีก 3 ค่ายประชิดแนวคูเมืองด้านทิศเหนือเสร็จแล้วจึงเริ่มขุดอุโมงค์[17] ในขณะที่ฝ่ายอยุธยาไม่ได้เพิกเฉยต่อการปฏิบัติการดังกล่าว ในครั้งนี้พระมหามนตรี ได้อาสาออกไปตีค่ายพม่าที่เข้ามาตั้งประชิดทั้ง 3 ค่าย พระเจ้าเอกทัศจึงโปรดให้จัดพลออกไป 50,000 คน ช้าง 500 เชือก ปรากฏว่าในครั้งนี้พระมหามนตรีได้ทำการรบอย่างอาจหาญ สามารถยึดค่ายพม่าได้ทั้ง 3 ค่าย แต่ภายหลังพม่าได้ส่งกำลังหนุนออกมาโอบล้อมทัพไทย จนเป็นเหตุให้พระมหามนตรีต้องนำกำลังถอนกลับเข้าเมือง[18]

ต่อมาพม่ายกเข้ามาเผาพระที่นั่งเพนียด แล้วตั้งค่าย ณ เพนียดคล้องช้างและวัดสามวิหาร วัดมณฑป จากนั้นก็ทำสะพานข้ามทำนบ รอเข้ามาขุดอุโมงค์ที่เชิงกำแพงและตั้งป้อมศาลาดิน ตั้งค่ายวัดแม่นางปลื้ม ต่อป้อมสูงเอาปืนใหญ่ขึ้นยิง แล้วจึงตั้งค่ายเพิ่มขึ้นอีกค่ายหนึ่งที่วัดศรีโพธิ์[19]

กลยุทธ์การเข้าตีพระนครของฝ่ายพม่า

กลยุทธ์ที่พม่านำมาใช้ในการรบคราวนี้ก็คือ ปิดล้อมกรุงไว้ แม้น้ำจะท่วมก็ไม่ถอย จัดการดำเนินการ[20]

  1. ยึดและรวบรวมเสบียงเท่าที่จะหาได้รอบ ๆ บริเวณนั้นไว้สำรอง
  2. รวบรวมวัวควายที่ยึดมาได้ ทำการเพาะปลูกในพื้นที่รอบ ๆ
  3. ผ่อนช้างม้าไปไว้ในพื้นที่ที่หญ้าอุดมสมบูรณ์
  4. ทหารที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาให้สร้างป้อมค่ายในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง
  5. จัดกองระวังป้องกันระหว่างป้อมเป็นระยะๆ
  6. ถ้ามีกำลังภายนอกเข้ามาก็ช่วยสกัดกั้นไว้

กลยุทธ์ในการเข้าตีกรุงขั้นสุดท้าย พม่าเปลี่ยนจากการเอาบันไดพาดปีนข้ามกำแพง มา เป็นการขุดอุโมงค์มุดลงใต้กำแพง โดยดำเนินการเป็นขั้น ๆ ดังนี้[21]

  1. การสร้างสะพาน
  2. การสร้างป้อมค่าย
  3. การขุดอุโมงค์

การสร้างป้อมค่ายขึ้นใหม่ 3 ป้อมนี้ มีความมุ่งหมายสำคัญ 3 ประการ คือ[22]

  1. เพื่อประสานงานกับฝ่ายขุดอุโมงค์ ป้องกันมิให้ทหารอยุธยาที่อยู่บนเชิงเทินยิงทำร้าย ทหารพม่าที่กำลังขุดอุโมงค์ได้ถนัด
  2. เพื่อเป็นการเพิ่มการทำลายฝ่ายอยุธยาที่อยู่ในพระนครให้มากขึ้น โดยการยิงถล่มเข้าไป
  3. เพื่อการสนับสนุนทหารที่จะบุกเข้าปีนกำแพงหรือลอดอุโมงค์เข้าไปในพระนคร

การที่กรุงศรีอยุธยามีข้าศึกเข้ามาประชิดติดพันก็นับว่าเป็นภัยร้ายแรงอยู่แล้ว ซ้ำยังมาเกิดอัคคีภัยไหม้บ้านเรือนอีก ความอัตคัดขาดแคลนที่มีอยู่เป็นทุนเดิมก็กลับโถมทับทวียิ่งขึ้น ราษฎรต่างก็ได้รับความทุกข์ยากแสนสาหัส บ้านเรือนไหม้ไปกว่า 10,000 หลัง ทำให้ราษฎรไม่มีที่พักอาศัยหลายหมื่นคน เมื่อเห็นว่าราษฎรต้องเผชิญกับความตาย ไร้ที่อยู่ทั้งขาดแคลนอาหาร กำลังใจและกำลังกายก็ถดถอยลง สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ จึงเจรจากับพม่าขอเลิกรบ ยอมเป็นเมืองขึ้นต่อพระเจ้าอังวะ แต่แม่ทัพพม่าไม่ยอมเลิก [23]

พม่ายังดำรงความมุ่งหมายเดิมในการรบครั้งนี้ไว้อย่างเหนียวแน่น ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งบัดนี้ ซึ่งน่าจะยุติการรบได้แล้ว ฝ่ายอยุธยาเห็นว่าสภาพการณ์ต่าง ๆ คับขันถึงที่สุดแล้วก็ขอยอมแพ้เป็นเมืองขึ้นของพม่าอย่างที่เคยทำกันมาแต่โบราณกาล แต่พม่าปฏิเสธไม่ยอมรับ เพราะการที่อยุธยายอมแพ้นั้นมิใช่ความมุ่งหมายของฝ่ายพม่า พม่าจึงไม่สนใจเสีย[24]

กรุงแตก

ในวันที่กรุงแตกนั้น เวลาประมาณบ่ายสามโมง พม่าจุดไฟสุมรากกำแพงเมืองตรงหัวรอที่ริมป้อมมหาชัย และยิงปืนใหญ่ระดมเข้าไปในพระนคร จากบรรดาค่ายที่รายล้อมทุกค่าย พอเพลาพลบค่ำกำแพงเมืองตรงที่เอาไฟสุมทรุดลง เวลา 2 ทุ่ม แม่ทัพพม่ายิงปืนเป็นสัญญาณให้ทหารเข้าพระนครพร้อมกันทุกด้าน พม่าเอาบันไดปีนพาดเข้ามาได้ตรงที่กำแพงทรุดนั้นก่อน ทหารอยุธยาที่รักษาหน้าที่เหลือกำลังจะต่อสู้ พม่าก็สามารถเข้าพระนครได้ในเวลาค่ำวันนั้นทุกทาง[25]